่
กรณีฉุกเฉิน : ข้อควรทราบ
การปฐมพยาบาลฉุกเฉินมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุในเบื้องต้น ก่อนที่จะนำส่งไปยังสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล ซึ่งมีบุคลากรและเครื่องมือพร้อมต่อไป การช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างน้อยก็ต้องที่จะไม่ทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นแย่ลงไปกว่าเดิม และในบางกรณีสามารถที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที เช่น กรณีมีบาดแผลเลือดออกมาก ถ้าสามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพียงกดแผลไว้ให้เลือดหยุดเท่านั้น ก็สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจากการสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมากได้ ถ้าหากช่วยเหลือไม่ทัน เลือดออกมากๆ จะทำให้เกิดภาวะช็อคทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้สำหรับการปฐมพยาบาลกรณีฉุกเฉิน ความสำคัญในเรื่องนี้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ และลำดับความสำคัญของการช่วยเหลือก่อนหลัง เท่าที่ขีดความสามารถและสามัญสำนึกของแต่ละคนที่มีแตกต่างกันออกไป การเข้ารับการอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีส่วนช่วยให้ท่านมีความรู้เพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ญาติผู้ใหญ่ บุคคลที่ใกล้ชิดหรือคนอื่นๆ ที่เผอิญท่านอยู่ในเหตุการณ์วิกฤตนั้นๆสำหรับลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือมีดังนี้
- การหายใจ มนุษย์เราสามารถที่จะทนต่อการขาดอ๊อกซิเจนประมาณ 4-5 นาที มิฉะนั้นสมองจะตาย และเสียชีวิตได้ทันที การเสียเลือด มนุษย์เรามีการไหลเวียนของโลหิตเพื่อนำอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองและตัวหัวใจเอง หากเสียเลือดมากเลือดที่เหลืออยู่นำอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงสมองและหัวใจไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ การบาดเจ็บต่อสมอง ผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนต่อสมองจนหมดสติแต่ยังหายใจได้เอง ต้องระมัดระวังในระบบการหายใจต้องไม่ให้มีการอุดตัน ไม่ว่าจะเป็นการสำลัก หรือมีสิ่งของอุดตันช่องทางเดินหายใจ เพราะสมองที่ได้รับแรงกระทบกระเทือนจะยิ่งแย่ลงไปอีก ถ้าการนำอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง
- การบาดเจ็บต่อกระดูก กระดูกหักจะมีผลทำให้มีการเสียเลือดมาก ๆได้ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อการทำงานของสมองและตัวหัวใจเอง เพราะขาดเลือดที่นำอ๊อกซิเจนมาลี้ยง จะทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
กรณีฉุกเฉิน : ข้อควรทราบ
สำหรับการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินมุ่งเน้นไปตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
- การหายใจ ต้องดูว่ามีอะไรค้างอยู่ในปากหรือจมูกหรือไม่ จัดศีรษะให้เงยขึ้น โดยมือหนึ่งจับที่หน้าผากและอีกมือหนึ่งชันคางขึ้นจะทำให้ช่องทางเดินหายใจโล่งขึ้น ขยับขยายเสื้อผ้าให้การหายใจเป็นไปสะดวก ถ้าหายใจสม่ำเสมอดี และกลัวจะสำลัก ท่านอาจจะให้คนไข้นอนตะแคงกึ่งคว่ำ งอสะโพก งอเข่าพอสมควร แต่ถ้าหากคนไข้ไม่หายใจ ถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่ท่านต้องเริ่มปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานถ้าท่านสามารถทำได้ ด้วยการช่วยใส่อากาศเข้าไปในปอดของคนไข้ โดยการใช้ปากเป่าลมเข้าไปในปากของคนไข้ แต่ถ้าไม่ได้อาจเป่าเข้าทางจมูก โดยเป่าเข้าไป 12-14 ครั้งต่อนาที จนกระทั่งคนไข้เริ่มหายใจ แต่ถ้าไม่สำเร็จคนไข้จะต้องการการช่วยในขั้นต่อไปซึ่งคนช่วยจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี การเสียเลือด ท่านสามารถช่วยลดการเสียเลือดได้ โดยหาผ้ากดตรงบาดแผลให้แน่นสักระยะหนึ่ง และอาจใช้ผ้ายืดพันทับปล่อยทิ้งไว้ ถ้าเป็นส่วนแขนหรือขาให้พยายามยกสูงกว่าลำตัว หากยังมีเลือดออกมากอีก อาจต้องหาผ้าม้วนให้พอดีกับจุดที่จะกดเลือดให้หยุด และให้ลอดกดดูอีกครั้ง ท่านต้องพยายามกดให้เลือดหยุด หรือออกน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ การบาดเจ็บต่อสมอง ท่านสามารถช่วยเหลือคนไข้ที่หมดสติได้โดยการทำให้การหายใจดีขึ้น แต่มีข้อระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายคนไข้ที่ท่านควรทราบคือ ท่านต้องระมัดระวังกระดูกคอของคนไข้ด้วย เพราะบ่อยครั้งที่คนไข้มีกระดูกคอหักร่วมด้วย ท่านต้องพยายามเคลื่อนย้ายคนไข้ โดยต้องให้คออยู่นิ่งๆ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีกระดูกคอหักโดยการเอ็กซเรย์
- การบาดเจ็บต่อกระดูกและข้อ ท่านสามารถช่วยได้ โดยหาไม้หรือวัสดุที่แข็งมารองส่วนที่หักและพันดามไว้ให้อยู่นิ่งๆ ถ้าหาไม่ได้จริงๆให้เอาหนังสือพิมพ์เหลาย ๆ ชั้นมาม้วนให้กลมเป็นแท่งจะทำให้มีความแข็งแรงพอที่จะใช้ดามแขนขาได้
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลคร่าวๆ ที่อาจเป็นประโยชน์บ้างต่อกรณีฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นต่อหน้าท่าน แต่ทางที่ดีถ้าท่านมีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมการปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้ จะมีประโยชน์อย่างมาก
ของติดคอ
กรณีที่มีสิ่งของอุดตันทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือวัตถุใดก็ตาม ถือเป็นกรณีรีบด่วนที่สุดที่จะต้องให้การช่วยเหลือดังนี้
- ถ้าผู้ป่วยยังไอได้และการไหลเวียนของโลหิตยังดี โดยดูจากสีผิวที่ยังแดงดีมีเลือดมาเลี้ยงตามปกติ แสดงว่าการอุดตันเกิดขึ้นเป็นบางส่วน อ๊อกซิเจนยังเข้าสู่ร่างกายได้ ให้ท่านคอยสังเกตอาการต่อไป เพื่อดูว่าอาจจะไอเอาสิ่งที่อุดตันออกมา
- ถ้าหากผู้ป่วยไอน้อยอ่อนแรงลงและหายใจลำบาก ผู้ป่วยพูดไม่ออก ไอและหายใจไม่ได้ แสดงว่าทางเดินหายใจอุดตันโดยสมบูรณ์ ผู้ป่วยอาจจะเริ่มเขียว ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจะหมดสติในที่สุด ท่านต้องให้การช่วยเหลือด่วนดังนี้
- ให้ท่านเอานิ้วกวาดเข้าไปในปากและคอ เพื่อเอาสิ่งของที่อาจอุดตันทางเดินหายใจออกมา ถ้าเปิดปากแล้วเห็นสิ่งของ ท่านต้องระมัดระวังอย่าดันให้ลงไปอีก ถ้าเอาสิ่งของไม่ออกให้จับคนไข้ยืนขึ้น แล้วท่านกอดคนไข้จากด้านหลัง เอามือ 2 ข้างของท่านจับกันให้แน่น โดยมือด้านชิดคนไข้กำเป็นหมัดเอาไว้ตรงบริเวณเหนือบั้นเอว แล้วกอดคนไข้ให้แน่นและยกตัวคนไข้ขึ้นไปพร้อมๆ กันด้วย ทำเช่นนี้ 6-10 ครั้ง ถ้ายังไม่มีอะไรออกมาให้ทำซ้ำเช่นนี้อีก 3 ครั้ง
- ถ้ายังไม่สำเร็จให้เอาคนไข้นอน กำหมัดข้างหนึ่งกดไว้ตรงเหนือสะดือ และอีกมือหนึ่งวางบนมือที่กำหมัด กดลงไปบนท้องคนไข้และพยายามดันขึ้นไปทางศรีษะ 4 ครั้ง ติดกัน ถ้าหากของหลุดออกมาและคนไข้ยังไม่หายใจ ให้ปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานต่อไป
ถ้าหากเป็นเด็กสำลักมีสิ่งของติดคอ ให้ท่านนั่งบนเก้าอี้ จับเด็กพาดตัวลงไปตามแนวต้นขาและเข่าของท่าน โดยเอาหัวลง มือหนึ่งประคองอยู่ที่หน้าอก อีกมือหนึ่งใช้ฝ่ามือกดไปบนแผ่นหลังที่อยู่ระหว่างไหล่ 2 ข้าง จะช่วยทำให้ของที่ติดคอหลุดออกมาได้
ข้อแพลง
ข้อต่าง ๆ ของคนเรามีโอกาสเกิดการแพลงได้ทั้งสิ้น เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน ขอยกตัวอย่างข้อเท้าแพลง แต่หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของทุกข้อต่อที่แพลงจะคล้าย ๆ กันข้อเท้าแพลง เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเดินสะดุดก้อนหิน ขอบถนนหรือพื้นที่ไม่เรียบ หรือขึ้นลงบันไดแล้วพลาดเป็นต้น สำหรับในกลุ่มที่เล่นกีฬาก็พบได้บ่อยเช่นกัน จากการวิ่งแล้วล้มลง หรือปะทะกันแล้วล้มลงข้อเท้าของคนเรา นอกจากมีกระดูกมาประกอบกันเป็นข้อต่อแล้ว ยังมีเอ็นยึดข้อโดยรอบ ข้อเท้าแพลงหมายถึง การที่เอ็นยึดข้อถูกยืดมากเกินไป จนกระทั่งมีการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อ มีเลือดออก บวมมากน้อยแลัวแต่ว่าฉีกขาดมากเพียงใด ถ้าฉีกขาดมากจะทำให้ข้อเท้าไม่แข็งแรง และ การรักษาอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อไปเย็บซ่อมเยื่อหุ้มข้อที่ฉีกขาดสำหรับการรักษาข้อเท้าแพลงเบื้องต้นใช้หลักการดังนี้
- ให้ลดหรือหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ เช่น บาดเจ็บจากการเล่นกีฬาให้หยุดเล่น ถ้าหากกำลังเดินอยู่ก็ให้หยุดนั่งพักก่อน เพื่อดูว่าการบาดเจ็บจากข้อเท้าแพลงมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ใช้ความเย็นประคบส่วนที่เจ็บหรือส่วนที่บวม เพื่อลดความเจ็บปวดและจะช่วยทำให้เลือดออกน้อยลง เพราะความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว อาการบวมก็จะน้อยลงด้วย ดังนั้นการหายจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สำหรับการใช้สิ่งที่ร้อนๆ ไปนวดจะยิ่งทำให้บวมมากขึ้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงใน ระยะ 24-48 ชั่วโมงแรก ใช้ผ้าพันส่วนที่บวมเพื่อให้ข้อที่บวมอยู่นิ่งๆ และไม่บวมมากขึ้น ให้ยกปลายเท้าให้สูงขึ้น เพื่อลดความเจ็บปวดและลดอาการบวม
- ทั้ง4ข้อ เป็นหลักการรักษาเบื้องต้น ถ้ามีอาการรุนแรงก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะในบางกรณีอาจต้องเข้าเฝือกหรืออาจต้องผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็นยึดข้อที่ขาด
คนจมน้ำ
การช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก เพราะภาวะการขาดอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงสมองจะอยู่ได้ไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น การตัดสินใจที่จะให้การช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งจึงต้องแข่งกับเวลา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือต้องไม่ตื่นตระหนกตกใจจนทำอะไรไม่ถูก และต้องจำไว้เสมอว่า ผู้ให้ความช่วยเหลือต้องปลอดภัยเพียงพอด้วย เพราะผู้ที่จมน้ำมีความตกใจกลัวค่อนข้างมาก จนเกาะหรือกอดเอาผู้ให้ความช่วยเหลือจมน้ำไปด้วย ท่านต้องพยายามหาเศษไม้ ผ้าเช็ดตัว หรือวัสดุอะไรก็ได้ ที่ท่านสามารถหาได้ ส่งให้ถึงมือคนที่จะจมน้ำ เพื่อให้จับและดึงเข้าหาฝั่งจนปลอดภัย ถ้าหากเป็นคลองหรือบึงที่มีเรือจอดอยู่ อาจพายเรือออกไปและยื่นพายให้จับถ้าคนจมน้ำที่ถูกช่วยขึ้นมาได้ ยังหายใจอยู่ ให้พยายามหาผ้ามาห่ม เพื่อให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น อาจจัดให้นอนตะแคงกึ่งคว่ำ เพื่อป้องกันการสำลักถ้าคนที่ถูกช่วยขึ้นมาได้ไม่หายใจ ให้จับนอนคว่ำและยืนคล่อมตัวเอาไว้ สอดมือทั้งสองช้อนไปบริเวณท้องใต้ลิ้นปี่แล้วยกขึ้น เพื่อช่วยให้น้ำออกจากกระเพาะอาหาร และเริ่มทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ถ้าท่านสามารถทำได้ โดยเป่าลมเข้าปากก่อนที่จะปั๊มหัวใจเป็นขั้นเป็นตอนไปซึ่งควรจะผ่านการฝึกอบรมมาก่อน และถ้าให้ดีผู้ที่จะช่วยเหลือควรจะได้ผ่านหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานมาแล้ว
กรณีที่ท่านสงสัยว่า กระดูกคอ หรือ ส่วนอื่นหัก ท่านต้องระมัดระวังในการเคลื่อนย้าย พยายามให้ศีรษะอยู่ตรงกับลำตัว และหาไม้หรือวัสดุช่วยดามส่วนนั้นให้อยู่นิ่ง ขณะเคลื่อนย้าย
ตะคริว
ตะคริว คือภาวะที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเองโดยที่เราไม่ได้สั่งให้เกร็งหรือหดตัว แต่กล้ามเนื้อนั้นหดเกร็งเองเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยที่เราไม่สามารถควบคุมให้กล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ คลายตัวหรือหย่อนลงได้ ถ้าหากไม่ได้รับปฏิบัติที่ถูกต้อง กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวหรือหดเกร็งจะค่อย ๆ คลายตัวทีละน้อยไปเอง แต่กว่าจะหาย คนที่เป็นตะคริวก็จะมีความเจ็บปวดค่อนข้างมากสาเหตุของตะคริวอาจเกิดความล้ากล้ามเนื้อจากการใช้งานติดต่อเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำต่อกล้ามเนื้อ หรือบางท่านเชื่อว่าอาจเกิดจากภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายกล้ามเนื้อที่พบว่าเป็นตะคริวได้บ่อยคือกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และกล้ามเนื้อหลัง แต่ที่คนส่วนใหญ่เป็นกันคือกล้ามเนื้อน่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมีหลักการดังนี้ ท่านจะต้องค่อย ๆ ยืดกล้ามเนื้อออกให้อยู่ในความยาวที่ปกติของกล้ามเนื้อนั้น ๆ และให้ยืดกล้ามเนื้ออยู่จนกระทั่งหายปวด อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที แล้วลองปล่อยมือดูอาการว่ากล้ามเนื้อนั้น ๆ ยังเกร็งอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่ ให้ทำซ้ำอีกจนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีการเกร็งตัว ถือว่าเพียงพอแล้ว
ขอยกตัวอย่างหากเกิดตะคริวที่น่อง ให้ท่านรีบเหยียดเข่าให้ตรง และรีบกระดกปลายเท้าขึ้น อาจทำเองหรือให้คนที่อยู่ใกล้ ๆ ช่วยก็ได้ ถ้าท่านทำเองอาจก้มไปเอามือดึงปลายเท้าเข้าหาตัว ค้างไว้ประมาณ 1 - 2 นาที จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องปวดได้เป็นอย่างดี การบีบนวดขณะกล้ามเนื้อเกร็งตัวไม่ควรทำ แต่ถ้าหากกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจบีบนวดโดยใช้มือบีบนวดไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นไปจนถึงข้อเข่า ใช้ทิศทางเดียว เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดกลับไปสู่หัวใจได้ดีขึ้น
ท้องเสียอย่างรุนแรง
อาการท้องเสีย เป็นอาการที่พบได้บ่อยในโรคระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และในโซนที่มีอากาศร้อนชื้นเช่นประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นไวรัส หรือ เชื้อแบคทีเรียก็ได้ โดยปกติในลำไส้เล็กของคนเรา จะมีเชื้อแบคทีเรียที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อร่างกายอยู่จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว ในกรณีที่มีการติดเชื้อเชื้อโรคจะมีจำนวนมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วยอุจจาระอาจเหลวเป็นน้ำ มีเนื้ออุจจาระปนบ้าง หรืออาจมีเลือดปนถ้ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากเชื้อโรคบิดดังนั้นกรณีนี้การบำบัดอาการท้องเสีย ท่านจะต้องหมั่นสังเกตลักษณะอุจจาระว่าเป็นแบบใด ซึ่งถ้าหากมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ท่านควรเตรียมกล่องหรือขวดสำหรับเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจไว้ให้พร้อมส่วนกรณีที่ถ่ายอุจจาระเหลวติดต่อกันตลอด ลักษณะอุจจาระเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว ให้ นึกถึงอหิวาตกโรคไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีการระบาดเกิดขึ้น
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ท่านอาจช่วยเหลือตนเองโดยการค่อย ๆ ดื่มน้ำทีละน้อยแต่บ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำที่ออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ หรืออาจดื่มเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ผสม ซึ่งจะมีการดูดซับเข้าร่างกายได้ดีผ่านทางลำไส้เล็กส่วนต้น แต่ถ้าหากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย พร้อม ๆ ไปกับอาการท้องเสียอย่างรุนแรง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอาจจะเป็นการนำผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะหากรอต่อไปอาจมีผลเสียจากการขาดน้ำในร่างกายซึ่งบางรายมีอาการมากจนกระทั่งช็อคได้ นอกจากนี้อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาจากแพทย์
เพลียแดด/ เป็นลมแดด
เพลียแดด หรือเป็นลมแดด เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เกิดจากการที่ร่างกายมีความร้อนเพิ่มสูงขึ้น เพราะอุณหภูมิภายนอกสูงขึ้นมาก ในขณะที่อยู่ท่ามกลางแสงแดดจัด ๆ โดยที่ร่างกายขาดน้ำและร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันกับการเพิ่มความร้อนดังกล่าว มีผลทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ได้แก่ วิงเวียนศีรษะ ตาพร่า สติสัมปชัญญะเสียไป หายใจเร็ว ปากแห้ง กระหายน้ำ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้แก่ การนำผู้ป่วยมาอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกในที่ร่ม เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรปลดกระดุมหรือตะขอให้หลวม ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวหลาย ๆ ครั้ง ควรยกปลายเท้าให้สูงขึ้นประมาณ 1 ฟุต เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดมายังส่วนลำตัวและศีรษะของผู้ป่วยให้มากขึ้น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำทีละน้อย หากไม่คลื่น ไส้อาเจียน
ฟกช้ำ
ฟกช้ำเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อถูกกระแทกหรือถูกชน หรือถูกต่อย ทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้ผิวหนัง มากน้อยต่างกันขึ้นอยู่ความแรงที่มากระทบ และในบางครั้งในผู้สูงอายุแม้แรง กระแทกไม่มากเท่าใด แต่เนื้อเยื่อและเส้นเลือดภายในร่างกายคนสูงอายุจะค่อนข้างเปราะบาง จะเกิดการฟกช้ำ มีเลือดเป็นจ้ำ ๆ ห้อเลือดทั่วไปตามร่างกาย หรือในบางรายหลังถูกกระแทกไม่ได้รับการรักษาเบื้องต้นอย่างถูกต้อง อาการบวมก็มีมากได้ปกติภาวะฟกช้ำจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายภายใน 10 - 14 วัน ในกรณีที่ไม่หายและมีอาการหลงเหลืออยู่ หรือบางครั้งฟกช้ำมาก ๆ จะมีเลือดที่ออกมาใต้ผิวหนังสะสมอยู่ โดยที่ร่างกายไม่สามารถจะดูดซึมกลับได้หมด ท่านอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและเอาเลือดที่คั่งอยู่ออก
สำหรับการรักษาเบื้องต้นของภาวะฟกช้ำนี้ ได้แก่การประคบเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟกช้ำบริเวณศีรษะและใบหน้า ซึ่งไม่ค่อยมีกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อคลุมมาก ท่านจะต้องเอาผ้าที่ห่อน้ำแข็งไว้ภายในกดบริเวณนั้นประมาณ 5 - 10 นาที หรือผ้าธรรมดาม้วนให้หนาพอกดบริเวณฟกช้ำเอาไว้ เพื่อให้อาการบวมจากเลือดออกใต้ผิวหนังมีน้อยที่สุด การหายจะใช้เวลาสั้นที่สุดด้วย
ไฟฟ้าช็อต
ไฟฟ้าช้อต สามารถทำให้เกิดอาการหมดสติ หยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้นทันทีก็ได้ ถ้าหากได้รับกระแสไฟฟ้าเข้าตัวเป็นเวลานาน แม้ว่าจะเห็นแผลขนาดเล็กเป็นจุดที่กระแสไฟฟ้าเข้าและออกจากร่างกาย แต่อาจมีการทำลายของเนื้อเยื่อภายในอย่างมากมายการปฐมพยาบาลฉุกเฉินผู้ป่วยที่ถูกไฟฟ้าช้อตในเบื้องแรก ท่านควรที่จะตัดกระแสไฟฟ้าภายในบ้าน อย่างรวดเร็วถ้าทำได้ หรือท่านอาจจะต้องพยายามเอาตัวผู้ป่วยให้ หลุดจากสายไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต้นเหตุ โดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่นำไฟฟ้าเช่น ไม้ ผ้า หรือเชือกหลังจากที่ท่านแยกเอาผู้ป่วยออกมาได้แล้ว ท่านอาจทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ถ้าหากผู้ป่วยไม่หายใจ และคลำชีพจรไม่ได้ ให้เริ่มดำเนินการปฏิบัติการช่วยชีวิต ขั้นพื้นฐาน ขึ้นแรกคือการเป่าลมเข้าปากผู้ป่วย เพื่อให้มีอากาศผ่านเข้าไปในปอด โดยมือข้างหนึ่งจับที่หน้าผาก ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบจมูกผู้ป่วย อีกมือหนึ่งจับที่คางผู้ป่วยให้เงยหน้าขึ้น หายใจเข้าปอดเต็มที่และแนบปากของท่าน ให้กระชับกับปากของผู้ป่วย เป่าลมเข้าไป เป่าลมเช่นนี้ช้า ๆ 2 ครั้ง โดยสูดหายใจเข้าปอดของท่านให้เต็มที่ก่อนทุกครั้ง ถ้าทำได้ถูกต้อง ท่านจะสังเกตเห็นหน้าอกของผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหว แสดงว่ามีอากาศเข้าปอดของคนไข้ ท่านควรทำเช่นนี้ทุก ๆ 5 วินาที โดย1 นาทีจะเป่าปากได้ 12 ครั้ง แต่ละครั้งที่หน้าอกมีการเคลื่อนไหวขยายตัวขึ้น ให้รอให้ลมออกจากปอดก่อน โดยท่านอาจจะเอาหูแนบกับปากผู้ป่วยเพื่อฟังเสียงลมออกก่อนที่จะเป่าลมเข้าไปใหม่ ให้คลำชีพจรที่ข้อมือหรือบริเวณคอ ถ้าคลำชีพจรไม่ได้ให้ปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นต่อไป คือการปั๊มหัวใจ ควบคู่ไปกับการเป่าลมเข้าทางปาก ซึ่งผู้ที่จะทำควรจะได้ผ่านหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานมาแล้ว และถ้าให้ดีควรจะได้รับการฝึกฝนมาก่อน
- ถ้าหากผู้ป่วยหมดสติ แต่หายใจได้เองให้จับผู้ป่วยอยู่ในท่ากึ่งคว่ำ แขนและขาที่อยู่ด้านบน ให้งอพับพอสมควร พึงระวังเรื่องการอาเจียนซึ่งอาจมีเศษอาหารทำให้สำลักได้
ภาวะฉุกเฉินในผ้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีปัญหาเรื่องการหมดสติ และทำให้เสียชีวิตได้ โดยจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
หมดสติจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน เช่น ได้รับสารพิษหรืออุบัติเหตุกระทบกระเทือนทางสมอง เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป
หมดสติจากโรคเบาหวานเอง ซึ่งสาเหตุนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ภาวะเบาหวานฉุกเฉิน จากน้ำตาลต่ำ และภาวะเบาหวานฉุกเฉิน จากน้ำตาลสูง
สำหรับภาวะเบาหวานฉุกเฉินจากน้ำตาลต่ำ ผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยอาการมึนเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย ใจสั่น เหงื่อออก เป็นความรู้สึกเดียวกับเวลาหิว ในระยะนี้ถ้าผู้ป่วยรับประทานน้ำตาลจะสามารถพ้นจากภาวะนี้ได้ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และปริมาณคงที่ เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยหมดสติได้
ส่วนภาวะเบาหวานฉุกเฉินจากน้ำตาลสูง ได้แก่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก หรือ มีความผิดปกติของระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำให้มีภาวะกรดคั่งในร่างกายทำให้ผู้ป่วยหมดสติ อาการที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดสาเหตุเหล่านี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย ซึมลง หรืออาการหอบ หายใจลึก ในกรณีภาวะกรดคั่งในร่างกายมากขึ้น
โรคพิษสุนัขบ้า
สัตว์อะไรบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่พบมากที่สุด คือ สุนัข รองลงมา คือแมว ม้า ลิง และปศุสัตว์ (วัว, ควาย) สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอกโอกาสที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์กัด ถ้าไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ ให้ถือว่าเป็นไว้ก่อน ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด โอกาสเป็นโรคโดยเฉลี่ยประมาณ 35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21% ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า โอกาสเป็นโรคประมาณ 88% ถ้าเป็นแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่าแผลลึกหลาย ๆ แผลเชื้อติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย ทางติดต่อสู่คนที่พบบ่อย คือถูกกัด โดยทั่วไปเชื้อจะเข้าทางผิวหนังปกติไม่ได้ แต่อาจเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลอยู่เดิม หรือรอยข่วน นอกจากนี้ยังเข้าได้ทางเยื่อเมือก ได้แก่ เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุภายในปากข้อควรปฏิบัติหลังถูกสุนัขกัด
- รีบล้างแผลด้วยน้ำ และสบู่หลาย ๆ ครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผล ทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน, 70% alcohol ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลาย ซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์ (กรณีที่มีเจ้าของ) ควรกักขัง และเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน กรณีที่สัตว์ตาย ควรนำส่งเพื่อตรวจหาเชื้อ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันบาดทะยักทันที กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด อาจทำแผลไปก่อน โดยยังไม่ต้องเย็บแผล เนื่องจากแผลสกปรก โอกาสติดเชื้อจะสูงมากถ้าเย็บแผล
- ทานยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแผลมาก ชา หรือ คันรอบ ๆ แผล มีไข้ขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์
ไม่ว่าจะสามารถเฝ้าดูอาการได้หรือไม่โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ หรือกัดแล้วหนี ควรมาโรงพยาบาลทันที ไม่ควร และไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขมีอาการก่อน เพราะระยะฟักตัวทั้งในคน และสัตว์ไม่แน่นอน คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้ ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าของสัตว์ สัตว์มีเจ้าของไม่เคยออกนอกบ้าน ไม่เคยไปกัดกับใคร ไม่ได้บอกว่าสัตว์นั้นไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้นท่านควรได้รับวัคซีน ซึ่งวัคซีนมี 2 ชนิด คือ
- วัคซีนธรรมดา คือ วัคซีนที่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
- วัคซีนอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin) คือวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้น ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีราคาแพง
วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า โดยปกติท่านควรได้รับวัคซีนธรรมดาซึ่ง 1 ชุดจะมี 5 เข็ม ใช้เวลาในการฉีดประมาณ 1 เดือน โดยฉีดวัคซีนในวันแรกที่ถูกสัตว์กัด และในวันที่ 3,7,14,30 หลังสัตว์กัดตามลำดับ วัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunogobin) เป็นวัคซีนที่มีราคาแพง เพราะฉะนั้นจะใช้ต่อเมื่อ
- สงสัยว่าสัตว์เป็นโรคแน่ ๆ โดนกัดอวัยวะที่สำคัญซึ่งมีเส้นประสาทไปเลี้ยงมาก เช่น หน้า, ฝ่ามือ, ฝ่าเท้า, อวัยวะเพศ
- บาดแผลฉกรรจ์ แผลลึกมีขนาดใหญ่
โรคลมชัก
โรคลมชัก เป็นชื่อรวม ๆ ของภาวะที่เกิดจากการทำงานของเซลล์สมองไม่ไปด้วยกัน โดยปกติเซลล์สมองจะส่งสัญญาณเป็นคลื่นไฟฟ้าขนาดน้อย ๆ เพื่อติดต่อระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน เพื่อการทำงานที่ประสานสอดคล้องกัน แต่ในกรณีที่มีอาการลมชัก เซลล์สมองกลุ่มหนึ่งจะส่งคลื่นไฟฟ้าออกมามากเกินกว่าปกติ จนทำให้เกิดการเกร็งชักกระตุกของกล้ามเนื้อ ที่ควบคุมโดยเซลล์สมองที่สั่งคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกตินั้น ๆ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่มีส่วนน้อยที่เกิดภายหลังผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและสมอง ผู้ป่วยที่เคยมีการติดเชื้อของสมอง ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นเนื้องอกที่สมอง บางรายอาจมีประวัติสมองผิดปกติตั้งแต่แรกคลอดสำหรับการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน มีหลักการกว้าง ๆ ดังนี้
- ถ้าหากผู้ที่ชักกระตุกอยู่ในที่อันตราย เช่น บนที่สูง บนขั้นบันได หรือที่อื่นใดอันอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ต้องพยายามให้พ้นจากจุดอันตราย และหากมีวัสดุรอบ ๆ ที่อาจก่ออันตรายได้ให้เคลื่อนย้ายออก อย่าพยายามไปล็อคตัวหรือผูกตัวคนที่กำลังชักกระตุก อย่าพยายามเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดยัดเข้าไปในปาก เพราะถ้าเป็นของแข็งแรงกัดลงมาอาจทำให้ฟันหรือกระดูกกรามหักได้ ถ้าใช้ผ้าม้วน ๆ ใส่ในปากได้ จะดีกว่าใช้ของแข็ง การชักกระตุกโดยปกติจะเป็นเวลา 1-2 นาที ถ้าหากชักกระตุกนาน ๆ มากกว่า 3 นาที หรือชักกระตุกติดต่อกันเรื่อย ๆ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจรักษา ภายหลังชักกระตุกผู้ป่วยมักจะหลับ ให้จัดอยู่ในท่ากึ่งคว่ำเพื่อป้องกันการสำลักถ้ามีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ระวังเรื่องลิ้นอาจจะตกไปขวางทางเดินหายใจ และถ้าทำได้อาจเคลื่อนย้ายให้ไปอยู่ที่ที่เงียบปราศจากเสียงรบกวน แต่ควรจะมีคนคอยดูแลใกล้ชิดด้วย
- ปล่อยให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นเองตามปกติ ถ้าพูดคุยกันรู้เรื่องและผู้ป่วยมีประวัติชักมาก่อน ท่านควรเล่าให้ผู้ป่วยฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้น หากไม่มีประวัติชักมาก่อน ท่านควรแนะนำคนนั้นๆ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป
เลือดกำเดาออก
เลือดกำเดาอาจเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็ก ๆ มากกว่าในผู้ใหญ่ สำหรับเลือดกำเดาไหลในเด็ก มักเกิดในช่วงหน้าหนาวที่อากาศแห้ง ทำให้เยื่อบุจมูกพลอยแห้ง และตกสะเก็ดไปด้วย เมื่อสะเก็ดถูกแคะแกะเกา ก็ทำให้มีเลือดออกตามมา สาเหตุอื่นที่พบได้บ่อย คือ ในช่วงที่เป็นหวัดหรือการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน หรือกรณีที่มีไข้สูงจากสาเหตุใดก็ตาม เส้นเลือดฝอยเล็กๆ ในจมูกอาจแตกและทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้เช่นกันคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการปฐมพยาบาลคือ
- บีบที่จมูกโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ประมาณ 5 นาที โดยระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทน นั่งตัวตรงหรือนอนให้ศรีษะสูง เพื่อป้องกันการสำลักเลือด ประคบบริเวณจมูกและแก้มด้วยผ้าเย็น หรือน้ำแข็ง เพื่อช่วยให้เลือดหยุดเร็วขึ้น หลีกเลี่ยงการแคะจมูก การสั่งน้ำมูกแรงๆ และการยกของหนัก กรณีอากาศแห้งในช่วงหน้าหนาว อาจใช้วาสลีนครีม หรือขี้ผึ้งทาบริเวณเยื่อบุจมูกเพื่อให้เกิด ความชุ่มชื้น
- หากมีไข้ควรให้ยาลดไข้ร่วมด้วย
สำหรับเลือดกำเดาไหลที่พบในผู้ใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของหลอดเลือด หลอด เลือดจะเปราะ บางรายอาจมีความดันโลหิตสูง หรือมีเนื้องอกอื่นๆ ในช่องจมูก สิ่งที่บอกเหตุว่าท่านไม่ควรรีรอที่จะไปพบแพทย์คือ
- เลือดออกบ่อยๆ หรือออกจำนวนมาก เลือดออกข้างเดียวเรื้อรัง
- มีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืดจะเป็นลม
สงสัยกระดูกหัก
กระดูกของคนเราค่อนข้างแข็ง เพราะเป็นโครงของร่างกาย ดังนั้น กระดูกจะหักได้ต้องมีแรงมากระทำค่อนข้างรุนแรง ยกเว้นในกระดูกของคนสูงอายุ กระดูกจะบางลง แข็งแรงน้อยลง จะหักง่ายแม้มีแรงมากระทำไม่แรงก็ตาม ส่วนใหญ่คนไข้ที่กระดูกหักจะมีประวัติหกล้มมือยันพื้น สะโพกกระแทกพื้น ตกจากที่สูง สิ่งของที่หนักตกลงมากระแทก เล่นกีฬา รถมอเตอร์ไซด์คว่ำ รถยนต์ได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้นถ้าสังสัยกระดูกหักในกรณีไม่มีแผลเลือดออก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวด บวม เพราะมีเลือดออกจากกระดูกที่หัก ถ้ากระดูกหักแล้วมีการเคลื่อนที่ของปลายกระดูกที่หักจะทำให้ร่างกายส่วนนั้นผิดรูปไป เช่นข้อมือหักก็จะเห็นข้อมือบิดเบี้ยวไป รูปร่างไม่เหมือนเดิม หรือแขนหัก บางครั้งจะเห็นแขนตรงที่หักโก่งเป็นมุมได้อย่างชัดเจน แต่ถ้ากระดูกหักแล้วไม่เคลื่อนที่ออกจากกัน อาจจะไม่ผิดรูปร่างไป มีแต่ปวดบวม และถ้ากดไปบริเวณนั้นจะมีอาการเจ็บด้วย บางทีคนไข้เองหรือผู้ที่มาช่วยเหลือ อาจจะรู้สึกว่าปลายกระดูกที่หักมีการเสียดสีกัน ส่วนกรณีที่หักแล้วมีบาดแผลเลือดออก บางครั้งจะเห็นกระดูกทะลุออกมานอกเนื้ออย่างชัดเจน ซึ่งกระดูกหักชนิดมีแผลทะลุออกมานี้ ค่อนข้างจะรักษายากและมีผลแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื้อของกระดูกได้ง่ายสำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ท่านสามารถช่วยได้ โดยหาไม้หรือวัสดุที่แข็งมารองส่วนที่หักและพันดามไว้ให้อยู่นิ่ง ๆ ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ให้เอาหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ชั้น มาม้วนให้กลมเป็นแท่ง ๆ จะทำให้มีความแข็งแรงพอที่จะใช้ดามแขนขาได้
ในกรณีที่สงสัยว่าจะกระดูกหัก ผู้ป่วยควรจะถูกนำไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย บางครั้งแพทย์อาจจะต้องเอ๊กซเรย์กระดูก เพื่อดูว่ากระดูกหักแล้วเคลื่อนที่มากน้อยแค่ไหน เพื่อเตรียมการรักษาที่ถูกต้อง ต่อไป
อวัยวะถูกตัดขาด
ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าของแพทย์ด้านจุลศัลยกรรม หรือการผ่าตัดโดยใช้กล้องจุลทรรศน์มีมากขึ้น แพทย์สามารถทำการต่ออวัยวะที่หลุดขาดออกจากร่างกาย และประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ แต่บางกรณีก็ไม่สามารถผ่าตัดต่อได้สำเร็จ อาจเป็นเพราะ เนื้อเยื่ออวัยวะที่หลุดขาดนั้นมีความชอกช้ำมากเกินไป ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์พอที่จะรับการผ่าตัดได้หลายๆ ชั่วโมง หรืออวัยวะนั้น ๆ อยู่ในสภาพขาดเลือดมาเป็นเวลานานเกินไปสิ่งที่สำคัญที่สุดเบื้องต้นที่ท่านควรทราบและปฏิบัติตาม หากมีเพื่อนหรือญาติพี่น้องของท่านประสบอุบัติเหตุ อวัยวะถูกตัดขาด คือ การเก็บอวัยวะที่ถูกตัดขาดให้ถูกวิธี ดังนี้
- เก็บอวัยวะที่ถูกตัดขาดใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด ปิดปากถุงให้สนิท และใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ปิดปากถุงให้สนิทเช่นเดียวกัน ห้ามมิให้ใส่น้ำเข้าไปในถุงทั้งสองเป็นอันขาด นำถุงในข้อแรกไปแช่ในภาชนะ หรือถุงที่ใส่น้ำแข็งโดยรอบ
- ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
สำหรับบาดแผลของผู้ป่วย ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดแผล แต่ถ้าเลือดออกมากอาจต้องใช้มือช่วยกดบาดแผลเอาไว้ และยกส่วนนั้นๆให้สูง จะช่วยลดการสูญเสียเลือดได้
งูกัด
ถ้าหากท่านถูกงูกัด สิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับแรกก็คือ การที่ท่านจะต้องทราบให้ชัดเจนว่างูที่กัดท่านเป็นงูอะไร? เพราะเมื่อทราบชนิดของงูแล้ว เราจะทราบวิธีการดูแลรักษาพยาบาลที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงอันอาจจะเกิดขึ้นจากพิษของงูที่กัดท่านได้ ดังนั้นท่านควรจะนำงูที่กัดท่านไปที่โรงพยาบาลด้วยหากท่านสามารถจับงูได้ การตีงูที่ทำร้ายท่าน พยายามหลีกเลี่ยงอย่าตีบริเวณหัวถ้าทำได้ เพราะกรณีเป็นงูชนิดที่ไม่รู้จักมาก่อน การดูที่หัวและเขี้ยวบางครั้งอาจบอกได้ว่าเป็นงูมีพิษหรือไม่ แต่บ่อยครั้งผู้ที่ถูกงูกัดในที่มืดมองไม่เห็นงูชัดเจน จับงูไม่ได้ ท่านควรต้องสังเกตบาดแผลที่สงสัยว่างูกัดให้ได้ ซึ่งถ้าไม่แน่ใจท่านก็ควรให้การพยาบาลเบื้องต้นเสมือนหนึ่งว่าถูกงูกัดไว้ก่อน ดังนี้
- กรณีที่ถูกกัดที่แขนหรือขา ให้ใช้ผ้าหรือเข็มขัดรัดเหนือแผลประมาณ 2 - 4 นิ้ว อย่าให้แน่นมากจนเกินไป จนเลือดไปเลี้ยงปลายมือปลายเท้าไม่ได้ ให้ล้างบาดแผลด้วยสบู่และน้ำ พยายามให้ส่วนที่ถูกงูกัดอยู่นิ่ง ๆ และอยู่ต่ำกว่าระดับของหัวใจ ซึ่งถ้าเป็นงูพิษจะทำให้พิษของงูไหลกลับเข้าหัวใจ และแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้ช้าลง
- พยายามให้ผู้ที่ถูกงูกัดอยู่นิ่ง ๆ อย่าเดินไปเดินมา เพื่อลดการไหลเวียนของเลือด และไม่ควรคัดเลือดหรือพยายามดูดเอาเลือดออกจากแผล เพื่อหวังจะให้พิษงูเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง
ดังนั้นกรณีที่งูกัดหรือสงสัยว่างูกัด ถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่ท่านต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะท่านจะต้องจับงูให้ได้ ท่านจะต้องให้การพยาบาลเบื้องต้นดังที่กล่าวไว้แล้ว และท่านต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวางแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอันตรายจากงูกัดอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต