|
คุณมีสุขภาพดีแค่ไหน
ความหมายของการมีสุขภาพดีไม่ได้อยู่ที่การปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่รวมถึงการมีชีวิตที่ปกติสุขทั้งร่างกายและจิตใจด้วย สุขภาพที่ดีย่อมเกิดจากร่างกายที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และจิตใจที่พร้อมเผชิญความไม่แน่นอนแห่งชีวิต ด้วยการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความรัก การแบ่งปัน การรู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม และมองโลกในแง่ดี
สุขภาพของแต่ละคนนั้นถูกกำหนดด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากลักษณะทางพันธุกรรมและปัจจัยภายนอกอีกหลายประการ ดังนั้นแม้ว่าจะเกิดมาพร้อมร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง แต่หากปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตัวตามหนทางสู่การมีสุขภาพที่ดี หรือใช้ชีวิตอย่างตรากตรำจนเกินไป สุขภาพก็จะทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว มีรายงานถึงปัจจัยบางอย่างที่เป็นตัวเร่งการเสื่อมสภาพองอวัยวะภายในร่างกาย ได้แก่ การดื่มเหล้าและการสูบบุหรี่จัดเกินไป แต่ก็พบด้วยว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยชะลอความแก่ได้เช่นกัน เช่น การออกกำลังกายและการควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมอยู่เสมอ
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้สุขภาพของเราดีแค่ไหน ที่จริงแล้วมีวิธีทดสอบหลายอย่างที่จะบอกได้ว่าขณะนี้ร่างกายของเราทำงานเป็นปกติดีหรือไม่ เช่น การวัดความดันโลหิตหรือตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดโดยสถานพยาบาลที่ไว้ใจได้ การวัดชีพจร หรือการคำนวณค่าดัชนีมวลร่างกาย ที่ทดสอบได้ด้วยตนเองที่บ้าน นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบำบัดเสริมบางแบบก็อาจช่วยตรวจหาความผิดปกติของร่างกายได้จากการตรวจม่านตา หรือตรวจลิ้นอีกด้วย
สุขภาพ การที่ร่างกายของเราทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีสุขภาพกายที่ดี ซึ่งหมายถึงการที่ปอด หัวใจและอวัยวะภายในต่างๆ ทำงานได้ดี ระบบภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง ตลอดจนการมีกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรง วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สุขภาพกายแข็งแรงก็คือ การออกกำลังกาย เราสามารถเลือกวิธีออกกำลังกายที่ทำแล้วมีความสุข และไม่ทำให้ตนเองบาดเจ็บได้มากมายหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเล่นฟุตบอลกับลูก ๆ ล้างจาน วิ่งขึ้นรถเมล์ หรือเต้นรำกับคนรัก
ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการออกกำลังกายมีผลการวิจัยในประเทศอังกฤษรายงานว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 75-93 ปี ซึ่งออกกำลังกายเบา ๆ ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ จะมีกล้ามเนื้อตะโพกแข็งแรงขึ้นราวร้อยละ 25 ซึ่งเท่ากับคุณตาคุณยายเหล่านี้กลับมีกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งเหมือนเป็นหนุ่มสาวขึ้นอีก 16-20 ปีทีเดียว
เราสามารถดูแลสุขภาพให้ดีตลอดไปได้ด้วยตนเอง และสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติตัวตามแนวทางสู่การมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตรวจคอมดลูก วัดความดันโลหิต หรือตรวจสายตาและสุขภาพฟันตามเวลาที่กำหนด ทาครีมกันแดดเมื่อต้องตากแดดจัด ๆ ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย นอกจากนี้การใส่ใจกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันก็สำคัญเช่นกัน เช่น การทำงานอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยท่านั่งที่ถูกต้อง การใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานด้วยความปลอดภัย รวมไปถึงการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ด้วย
เมื่อถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ต้องใส่ใสดูแลตัวเองให้ดีเช่นเดิม การเอาใจใส่ตัวเองเมื่อเป็นโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างโรคหวัด จะช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น ส่วนผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ ตลอดจนลดอาการหรือโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา
สุขภาพจิต เรามักเชื่อกันว่าผู้ที่มีสุขภาพจิตดีหมายถึงคนที่มีความสุขและมองโลกในแง่ดี มีรายงานการวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า การมีสุขภาพจิตที่ดีนั้นสัมพันธ์กับการมีสุขภาพกายที่ดีอย่างชัดเจนอีกทั้งยังมีรายงานจำนวนมากกว่าวด้วยว่า ผู้ที่กล่อมเกลาจิตใจของตนให้มองโลกในแง่ดีขึ้นได้ จะสามารถบำบัดและเยียวยาอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่อย่างได้ผล
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเป็นตัวกำหนดภาวะของสุขภาพจิตก็คือความเครียด ซึ่งหมายถึงแรงกดดันต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย แต่ตัวความเครียดเองนั้น กลับไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่ากับวิธีการที่แต่ละคนใช้รับมือกับความเครียด เนื่องจากความเครียดบางรูปแบบที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ในระดับพอประมาณ จะช่วยกระตุ้น รวมทั้งเพิ่มพลังและชีวิตชีวาให้เราได้ แต่ถ้าเครียดมากเกินไป จนกลายเป็นความโกรธและวิตกกังวล ก็จะส่งผลให้ร่างกายต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้น้อยลง
ข้อปฏิบัติเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ถ้าใครรู้ตัวว่ากำลังใช้ชีวิตไปในทางที่ทำลายสุขภาพละก็ ควรพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ แก้จุดอ่อนทีละจุด ปรับเปลียนพฤติกรรมที่ไม่ดีไปทีละข้อจนเข้าสู่วิถีแห่งการมีสุขภาพดีในที่สุด โดย
- กินอาหารให้ได้สมดุลทางโภชนาการ โดยยึดหลักการกินให้หลากหลายชนิดมากที่สุด และพยายามควบคุมน้ำหลักตัวให้เหมาะสม - ดื่มสุราในปริมาณพอเหมาะพอดี โดยเน้นที่การดื่มอย่างปลอดภัยและไม่ทำลายสุขภาพ - หากสูบบุหรี่อยู่ก็ควรเลิกเสีย - ออกกำลังกายให้มากขึ้น เพราะยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไร ร่างกายก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น - หากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ - จัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม
ตรวจสอบการใช้ชีวิตของตนเอง เมื่ออ่านคำถามต่อไปนี้แล้ว ถ้าตอบ ใช่ มากเท่าใด ก็แสดงว่าคุณมีสุขภาพดีมากเท่านั้น แต่หากตอบ ไม่ใช่ ในข้อใด ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ให้ถูกต้อง
- คุณกินอาหารสด ๆ ที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ เป็นประจำ ไม่ชอบกินอาหารแปรรูปใช่ไหม - น้ำหนักตัวของคุณเหมาะสมกับส่วนสูงใช่ไหม - คุณไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบแล้วใช่ไหม - คุณดื่มเหล้าในปริมาณที่เหมาะสมใช่ไหม - คุณสามารถหยุดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น และทำให้ตนเองผ่อนคลายได้ใช่ไหม - คุณมีเวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องบ้างใช่ไหม - คุณเดินขึ้นบันไดสามขั้นได้โดยไม่มีอาการหอบหรือหายใจไม่ออกใช่ไหม - คุณได้เดินเล่น เล่นกับลูก ๆ ทำสวน เต้นรำ ล้างจาน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องออกแรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง สัปดาห์ละ 5 วัน ใช่ไหม - คุณหลับง่ายและหลับสนิทตลอดคืนใช่ไหม - ส่วนใหญ่คุณตื่นนอนตอนเช้าอย่างสดชื่นมีชีวิตชีวาใช่ไหม
เราควรไปพบแพทย์เมื่อใด เมื่อก่อนนี้เรามักไปพบแพทย์เฉพาะยามป่วยไข้ แต่ในปัจจุบันแพทย์สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของสุขภาพได้ร้อยแปด นับตั้งแต่วิธีดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ไปจนถึงการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เราอาจต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ เช่น ตรวจมดลูก หรือไม่ก็ไปเพื่อปรึกษาเรื่องการลดน้ำหนัก ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ หารือเกี่ยวกับการวางแผนครองครัว หรือไปฉีดวัคซีนให้ลูก ๆ ตามกำหนดเวลา และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การไปพบแพทย์ เมื่อเกิดความเจ็บป่วย บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าควรไปพบแพทย์เมื่อใด เช่น ทุก ๆ ฤดูหนาว ตามคลินิกและโรงพยาบาลต่าง ๆ จะคับคั่วไปด้วยคนเป็นหวัด ทั้ง ๆ ที่หวัดก็ไม่ใช่โรคที่แพทย์จะรักษาให้หายได้ เพียงแต่ช่วยบำบัดไปตามอาการเท่านั้น การรักษาที่ดีที่สุดคือ การนอนพักและดื่มน้ำหรือของของเหลวอย่างอื่นมาก ๆ และเมื่อร่างกาย แข็งแรงแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันก็จะจัดการกับเชื้อโรคเหล่านั้นได้เอง แต่ก็มีความผิดปกติหลายอย่างที่เมื่อเป็นแล้วควรไปพบแพทย์ทันที และควรไปพบซ้ำอีก หากอาการทรุดลงหรือเป็นอยู่หลายวันไม่หาย
หากเป็นไปได้ก็ควรไปพบแพทย์ในเวลาทำการ ไม่ควรไปปลุกแพทย์กลางดึก ยกเว้นกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น อย่าลืมว่าอาการของโรคต่าง ๆ มักทรุดลงในตอนกลางคืน ทำให้ผู้ป่วยมักนึกไปว่าตนเองเป็นโรคร้ายแรงกว่าที่เป็นอยู่จริง ซึ่งอาจเป็นเพียงการเข้าใจผิดเท่านั้น แต่หากไม่แน่ใจกับอาการที่เกิดขึ้นจริง ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ทันที โดยควรเตรียมเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อในกรณีฉุกเฉินไว้ให้พร้อม
เมื่อไปพบแพทย์ เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ควรจดรายละเอียดของอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า รวมทั้งปัญหาหรือข้อสงสัยต่าง ๆ ที่อยากถามแพทย์ด้วย และสิ่งที่ควรบอกกับแพทย์คือ เราเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกาย หรือรู้สึกว่าตนเองเริ่มป่วยตั้งแต่เมื่อไหร่ และเคยมีอาการเช่นนี้มาก่อนหรือไม่ โดยพยายามเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ละเอียดที่สุด
โดยปกติแล้วแพทย์มักวินิจฉัยโรคได้จากการตรวจดูอาการของคนไข้ รวมทั้งดูจากสัญญาณเตือนต่าง ๆ ของโรคร้ายแรง แพทย์จะใช้วิธีซักอาการประกอบกับการดูเวชประวัติ และลงมือรักษาได้ทันทีโดยอาจไม่ต้องตรวจร่างกายเพิ่มเติมเลย แต่หากจำเป็น แพทย์ก็อาจส่งคนไข้ไปปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านอื่น เพื่อการรักษาขั้นต่อไป
หากรู้สึกว่ายังไม่เข้าใจสิ่งใดก็ให้ซักถามแพทย์ทันที เช่น โรคที่เป็นนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร โดยปกติแล้วโรคนี้รักษากันอย่างไร เราจะช่วยอะไรได้บ้างไหม และจะมีผลต่อร่างกายในระยะยาวหรือไม่ นอกจากนี้ยังควรถามถึงวิธีปฏิบัติตัวที่จะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำอีกด้วย
อาการเตือนว่าอาจเจ็บป่วยร้ายแรง ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้
- น้ำหนักลดลง 3 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้นโดยไม่ทราบสาเหตุ - เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามกับเต้านม เช่น ผิวสัมผัส รูปร่าง ขนาดมีก้อนขึ้นในเต้านม มีเลือดหรือหนองไหลออกจากหัวนม - เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามกับอัณฑะ เช่น บวม เป็นก้อน หรือความผิดปกติอื่นที่เป็นอยู่นานไม่หาย รวมทั้งการที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัว - รู้สึกกระหายน้ำโดยไม่มีเหตุชัดเจน - รู้สึกเวียนศีรษะโดยไม่มีเหตุผล - เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามกับไฝหรือหูดที่ผิวหนัง เช่น เปลี่ยนสี ขนาด โตหรือหนาขึ้น คัน มีเลือดออก - ไอเป็นเลือด ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด มีเลือดออกจากช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกมากในช่วงมีประจำเดือน หรือมีเลือดออกหลังหมดระดูแล้ว - อุจจาระเป็นสีดำ หรือกิจวัตรในการขับถ่ายเปลี่ยนไปติดต่อกันนาน ๆ - มีอาการอาหารไม่ย่อยบ่อย ๆ หรือมีอาการเรอเปรี้ยว - กลืนอาหารยาก และเสียงแหบแห้งติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์ - ปวดศีรษะรุนแรงหรือปวดมากจนผิดปกติเป็นครั้งแรก - ปวดขาโดยไม่รู้สาเหตุหรือปวดบ่อย ๆ และปวดหลังไม่หาย - เป็นแผลไม่หาย หรือเกิดการบวมโดยไม่รู้สาเหตุ
คำเตือน ห้ามให้ยาแอสไพรินกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงบางอย่างที่เรียกว่ากลุ่มอาการรัย หากต้องการลดไข้ ให้ใช้ยาพาราเซตามอลแทน |